พระหลวงปู่ทวดหลังเตารีด 2505 พิมพ์องค์พระคมชัดลึก เป็นที่สุดองค์หนึ่ง

พระหลวงปู่ทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ B วัดช้างให้ ของเฉิน รังเทพ.

Published

พระหลวงปู่ทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ B วัดช้างให้ ของเฉิน รังเทพ.

เข้าสนามพระวันนี้ครึกครื้นคึกคักมาก ทุกร้านทุกแผงมีแต่เสียงเฮฮา เพราะผลประธานสภาฯวันนอร์ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองหงายเงิบกันทั้งสนาม ไม่มีใครได้กินโต๊ะฟรีใคร

รายการต่อไป อีก 4 วัน ก็รอฟังว่าใครจะเป็น นายกรัฐมนตรี ซึ่งชาวพระเครื่องบอกตรงกันว่า ใครก็ได้ ที่มาทำงานทำให้บ้านเมืองเรามีความสงบ มั่นคง มั่งคั่ง และดำรงความเป็นไทย ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติไหน เพราะมีสถาบันหลักสำคัญคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ประกอบกันอย่างแน่นเหนียว ทำให้เรายืนหยัดสามารถนำพาประเทศมาได้จนทุกวันนี้ ด้วยสไตล์ไทยๆ ซึ่งแม้บางคนจะว่าไม่ดี ไม่ถูก อย่างงั้นอย่างงี้ แต่คิดดูดีๆ ว่าเราก็อยู่กันมาได้ บางเรื่องก็ถูลู่ถูกัง มีวิกฤติ แต่อย่างน้อยก็ยังรอดมาดีพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับบางชาติที่ล่ม ล้มหรือร่อแร่

ระหว่างที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ใหม่จึงได้เห็นผู้คนแสดงความ เห็นหลากหลาย แบบมั่วมั่ง แม่นมั่ง แต่น่าดีใจที่ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปรับ ปรุงเปลี่ยน แปลง อยากให้จัดการกับความโหลยโท่ย การโกงกินให้สิ้นซากอย่างด่วน แต่ไม่ใช่การล้มล้าง ล้มเลิก แบบสุดโต่ง–และเรื่องไหนที่จะนำไปสู่ปัญหา หรือเปิดช่องให้ประเทศของเราถูกแทรกแซงไม่มีใครเอาด้วย ขอบอกนะ ขอบอก

พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน วัดเกษไชโย ของอัครบุตร ลิ้มทรงพรต.

ต่อเข้าสนามพระ ดูชมพระเครื่องงามๆที่ไม่เคยขัดแย้งแบ่งพวกกับใคร องค์แรกคือ พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง ที่เชื่อกันว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างที่วัด ระฆังโฆสิตาราม ราวปี พ.ศ.๒๔๐๕-๐๙ เพื่อนำไปบรรจุในองค์พระพุทธรูป (หลวงพ่อโต) ที่ท่านไปสร้างไว้กลางลานวัดไชโย จ.อ่างทอง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา (เกศ) กับบรรพบุรุษผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด

มาค้นพบคราวองค์พระหลวงพ่อโตพังทลาย เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๓๐ มีพระพิมพ์เนื้อผงทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ไหลมากองกระจาย ลักษณะเป็นพระพิมพ์ เนื้อผงพุทธคุณ สีเนื้อขาวอมเหลือง อย่างพระสมเด็จวัดระฆังฯ ต่างที่พิมพ์พระ มีลักษณะเป็นองค์พระนั่งปางสมาธิ มีเอกลักษณ์ ที่อกร่อง หูบายศรี ขอบรอบด้านตัดเหลือเนื้อเกินแบบกรอบกระจก

เนื้อพระแยกได้ ๓ แบบ เนื้อนุ่ม (เนื้อน้ำมัน) สีเนื้อ ขาวขุ่นอมน้ำตาล เนื้อแห้ง นุ่มปานกลาง มวลสารมาก สีเนื้อขาวอมเหลือง (เนื้อกระดูก) และเนื้อแกร่ง ผิวแห้ง เนื้อแก่ปูนมวลสารน้อย

แยกพิมพ์ตามรายละเอียดที่แตกต่างได้นับสิบพิมพ์ มีทั้งที่เป็นฐาน ๗ ชั้น ๖ ชั้น ๕ ชั้น ได้รับความนิยมมาตรฐาน ๓ พิมพ์คือ ๑.พิมพ์ใหญ่นิยมฐาน ๗ ชั้น A ๒.พิมพ์กลางฐาน ๖ ชั้น อกตัน ๓.พิมพ์เล็กฐาน ๖ ชั้น อกตลอด

กับพระนอกพิมพ์มาตรฐานที่ได้รับความนิยม เช่น พิมพ์ ๗ ชั้นหูประบ่า พิมพ์ ๗ ชั้นแขนติ่ง (นักเลงโต) พิมพ์ฐาน ๖ ชั้น ๗ ชั้น ไหล่ตรง-อกวี และพิมพ์เข่าบ่วงฐาน ๕ ชั้น ฯลฯ

องค์นี้ของ เสี่ยอัครบุตร ลิ้มทรงพรต เป็นพิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน สภาพสมบูรณ์งามเยี่ยม รูปทรง สัดส่วนถูกต้อง พิมพ์พระ ที่ลึกชัด เนื้อพระอุดมด้วยมวลสารครบสูตร– เด่นสุดที่ผิวเนื้อซึ่งปราศจาก ริ้วรอยสัมผัสใช้ จัดเข้าทำเนียบพระองค์ครูได้เลย

พระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก พิมพ์เล็ก หลวงพ่อผุด วัดวังเวียน ของ อิทธิ ชวลิตธำรง.

องค์ที่สอง พระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก พิมพ์เล็ก หลวงพ่อผุด วัดวังเวียน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ๑ ในสุดยอดพระปิดตาภาคตะวันออก มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมสูงเทียบได้กับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์หลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จ.ฉะเชิงเทรา

เป็นพระปิดตาอันดับ ๑ ในฝันของชาวเมืองจันทบุรี แต่หาพบยากมาก เพราะสร้างน้อยกว่าน้อย ประมาณว่าขนาดท้าแลกองค์ต่อองค์กับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว หลวงปู่จีน คนเมืองจันท์ยังบอกขอแลกด้วยเงินดีกว่า

ท่านเป็นชาวเมืองจันท์ อายุครบก็อุปสมบท และฝักใฝ่เรียนรู้สรรพวิชาอาคม ออกธุดงค์แสวงหาพระอาจารย์แลกเปลี่ยนเรียนวิชามากมาย ๑ ในนั้นคือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่คบหาเป็นพระสหมิกธรรม แลกเปลี่ยนวิชากันที่วัดประดู่โรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา

และเมื่อธุดงค์กลับถิ่นกำเนิดยังได้เรียนวิชากับหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จึงเห็นได้ว่าเนื้อพระปิดตาของท่านเป็นเนื้อเดียวกับเนื้อพระปิดตาหลวงปู่จีน อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง เป็นพระสภาพสมบูรณ์ สวยแชมป์ เดิมๆ วงการยอมรับว่าพิมพ์ชัด เนื้อใช่ เป็นพระแท้ องค์ครู ระดับตำนานมาแสนนาน

ตามมาด้วย เหรียญหลังเตารีด พิมพ์ใหญ่นิยม B เนื้อโลหะผสม หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่หลวงปู่ทิม (พระครูวิสัยโสภณ) จัดสร้างตามรูปแบบพระผงเนื้อว่านรุ่นแรก ที่จำหน่ายหมดจากวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕

โดย พระองค์เจ้าเฉลิมพล ฑิฆัมพร (เสด็จพระองค์ชายกลาง) รับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง ตั้งคณะกรรมการรับมอบเนื้อโลหะชนวนศักดิ์สิทธิ์ นำให้ อ.สวัสดิ์ เดชพวง ทำพิธีหลอม เทหล่อเป็นองค์พระ ที่โรงงานที่วัดคอกหมู กรุงเทพฯ สำเร็จแล้วนำกลับไปทำพิธีปลุกเสกที่วัดช้างให้ เมื่อวันที่ ๑๖ พ.ค.๒๕๐๕

มีพิมพ์ใหญ่ มีเนื้อทองคำผสมโลหะ ๙๙ องค์ เนื้อเมฆพัตรราว ๑,๐๐๐ องค์ เนื้อโลหะผสมนวโลหะหลายหมื่นองค์ แยกพิมพ์ตามขนาดเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก แต่ละขนาดมีบล็อกแยกย่อยอีกมาก

ลักษณะพิมพ์พระ รูปทรงองค์รวมคล้ายกัน รูปทรงเป็นกลีบบัว ด้านหน้าเป็นรูปจำลององค์หลวงปู่ทวด นั่งสมาธิเต็มองค์ อยู่เหนือฐานบัว ๒ ชั้น ด้านหลังเรียบ (หลังเตารีด) มักมีรอยแต่งตะไบ

องค์นี้ ของ เสี่ยเฉิน รังเทพ เป็นพระพิมพ์ใหญ่นิยม B ที่งามสมบูรณ์เดิมๆ เป็นที่สุดองค์หนึ่ง เพราะพิมพ์องค์พระที่คมจัดชัดลึก ผิวเนื้อที่สมบูรณ์แบบ คราบขี้เบ้าที่จับแน่นในซอกส่วนลึกแบบเดิมๆ–การันตีด้วยตำแหน่งแชมป์งานประกวดใหญ่ ที่ เสี่ยโอ๋ กันตนา เป็นประธาน จัดที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่เพิ่งผ่านมา

พระนางบ่อสวก พิมพ์เล็ก ยอดตัด กรุบ่อสวก ของ ส.จ.บอม เมืองน่าน.

อีกรายการเป็น พระนางบ่อสวก พิมพ์เล็ก เนื้อดินเผา กรุบ่อสวก จ.น่าน พระพิมพ์เนื้อดินเผายอดนิยมของชาวเมืองเหนือ โดยเฉพาะเมืองน่าน

เรียกตามพิมพ์พระ สถานที่ค้นพบเป็น “พระนางบ่อสวก” เพราะค้นพบในกรุพระวัดบ่อสวก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ลักษณะเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผา รูปทรงสามเหลี่ยม ยอดตัด ด้านหน้าเป็นองค์พระนั่งปางมารวิชัย พุทธศิลป์สมัยเชียงแสนผสมสุโขทัย เส้นศิลป์มีความอ่อนช้อยงดงามอย่างพระนางพญา

แยกพิมพ์ตามขนาดรูปแบบได้หลายพิมพ์ อย่างองค์นี้ของ ส.จ.บอม เมืองน่าน เป็นพระพิมพ์เล็ก สภาพสมบูรณ์สวยเดิมๆ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยม ในราคาหลักหมื่นปลายขึ้นหลักแสน

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ของนนท์ บางแค.

องค์ที่ห้า เป็น เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม ๑ ใน ๕ เหรียญพระเกจิอาจารย์ยอดนิยม

ที่มี ๑.เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ จ.พระนครศรีอยุธยา รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๙ ๒.เหรียญรุ่นแรก หลังยันต์ ๔ พ.ศ.๒๔๖๗ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังฯ กรุงเทพฯ ๓.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๕ หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม จ.เพชรบุรี ๔.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๖ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ๕.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม

มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคสงครามอินโดจีน ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่หลักล้าน อย่างเหรียญนี้ ของ เสี่ยนนท์ บางแค เป็นเหรียญสภาพ สวยขั้นแชมป์ โชว์ได้ ใช้ดีแน่ และราคาที่น่าจะเบาหน่อย เพราะหูห่วงที่ถูกตัดหายไป ซึ่งไม่ถือสา เพราะพอใส่ตลับก็ไม่ติดใจเรื่องหูห่วงกัน

รูปเหมือนบูชา พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ของมีชัย เถาเจริญ.

อีกสำนักเป็น รูปเหมือนบูชา พ.ศ.๒๕๐๕ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ๑ ในรูปเหมือนบูชารุ่นนิยม สร้างออกคราวเดียวกับเหรียญหลังเตารีดรุ่นแรก ท่านพระครูวิสัยโสภณ เป็นประธานจัดสร้าง ปลุกเสก ณ พระอุโบสถวัดช้างให้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕

ปัจจุบันเป็นรูปเหมือนจำลองบูชา ที่ได้รับความนิยมสูง สภาพงามสมบูรณ์ สวยเดิมแบบองค์นี้ ของ เสี่ยมีชัย เถาเจริญ อยู่ที่หลักแสนมานานแล้ว

เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ของกำนันมานะ คงวุฒิปัญญา.

อีกรายการ เป็นเครื่องรางของขลังยอดนิยมอมตะ ที่กำลังกรี๊ดกร๊าดฮือฮา เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ตัวบิ๊ก ขนาดฐาน ๓.๕ ซม. สูง ๔.๕ ซม. เป็นไซส์จัมโบ้ ตัวโตสุดเท่าที่มีในวงการ

เป็นที่รู้กันว่าเขี้ยวเสือสกุลนี้ สภาพเขี้ยวสีเนื้อศิลปะการแกะ รอยจาร อักขระ เลขยันต์ สำคัญสุดในการพิจารณาราคาสูงต่ำกำหนดด้วย ขนาดเล็กสุด (ปลายเขี้ยว) ที่วงการมีสวยแบบกินกันไม่ลงอยู่ ๒-๓ ตัว ขนาดใหญ่ (โคนเขี้ยว) ที่มีปรากฏมาขนาดสูสี ก็มีหลายตัวเช่นกัน

ทุกตัว ราคาแพงลิบเรียกกันหูอื้อ (หลักล้าน) แต่พอมีตัวนี้ของ กำนันมานะ คงวุฒิปัญญา ออกมาให้เห็นจุดพิจารณาที่ครบเครื่อง กับขนาดที่ใหญ่บึ้ม จึงมีเสียงตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นเสือตัวพ่อ บิ๊กไซส์ใหญ่สุดตัวจริง

กุมาร ดูดรก หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน ของแมน รัตนา.

สุดท้าย ก็เครื่องรางฯ ที่เรียกว่า กุมาร ดูดรก เนื้องาแกะ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จ.อ่างทอง เป็นเครื่องรางแปลกตาหายาก ที่ เสี่ยแมน รัตนา มืออาชีพ สายตรงตัวจริงเรื่องเครื่องรางของขลัง บอกว่าเป็นของดีทีเด็ด ที่หลวงพ่อสร้างให้เฉพาะศิษย์ใกล้ชิด ด้วยเนื้องากำจัด-งากำจาย ที่ท่านเจอในการออกธุดงค์

จึงนำมาแกะเป็นรูปทรงกุมาร ดูดรก ปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์ให้ใช้ ซึ่งตามตำรามีอานุภาพเด่นสุด แรงสุดด้านเมตตามหานิยม

มาถึงเรื่องปิดท้าย สไตล์เรา ซึ่งเกิดในร้านอาหารที่นครปฐม ซึ่งขายดีมีลูกค้าแน่น เพราะอาหารอร่อย กับ เจ๊จอย ม่ายวัย ๓๖ เจ้าของร้านก็สวย

จึงมีหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่เทียวไปเทียวมาเป็นลูกค้าขาประจำหลายราย ในจำนวนนั้น มี ลุงโชคชัย เซียนพระท้องถิ่นวัย ๖๐ ซึ่งมีอาวุโสสุดในบรรดาลูกค้า ที่ส่วนใหญ่อายุอยู่ระหว่าง ๓๐-๔๐ ปี

หลายคนรู้จัก ลุงโชคชัย ก็แซวว่า ลุงลงสนามด้วยต้องใช้ฝีมืออย่างเดียว ห้ามเล่นของนะ ลุงโชคชัย ก็มักตอบว่ารุ่นข้าแล้ว รับรองใช้ฝีมือกับสายตาล้วนๆ ไม่เล่นของแน่

ผ่านมาหลายเดือน หนุ่มหลายคนจีบจนท้อ เพราะ เจ๊จอย ดูจะสนใจลุง ซึ่งไม่มีคุยเกาะแกะ มาทีไรก็นั่งเงียบๆ ยิ้มเฉยๆ เจ๊เลยเสิร์ฟอาหารให้เอง คุยด้วย

คนที่ยอมถอดใจจึงถามแกว่า มีของดีอะไรบอกกันมั่ง จะได้หามาใช้ รับรองไม่จีบแข่ง ลุงโชคชัย ทำท่ารำคาญตอบว่า บอกหลายครั้งแล้วว่าไม่มีของดีอะไร และก็ไม่ได้มาจีบอีเจ๊ เพราะไม่มีปัญญาจะทำอะไรเขา

แต่ที่แกมานั่งเฝ้าทุกวัน เพราะอยากได้พระนางพญาในคอ แต่ไม่เอาอีเจ๊ เพียงแต่ยังไม่กล้าถามราคา เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

เครดิต : ไทยรัฐ