พระสมเด็จแบบไหน? เนื้อหนึกนุ่ม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงครบสูตรมาตรฐาน องค์ในคอลัมน์วันนี้ อดใจไม่ได้ ที่จะเปิดตำราครู

Published

เห็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงครบสูตรมาตรฐาน องค์ในคอลัมน์วันนี้ อดใจไม่ได้ ที่จะเปิดตำราครู “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จฯ (พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2522) หน้า 428 อ่านหัวข้อ มูลฐานลักษณะทางเนื้อ

ครู “ตรียัมปวาย” อธิบายว่า เนื้อพระสมเด็จฯแตกต่างกันออกไปถึง 6 ประเภท ตามสัดส่วนของการประสมประสานของมูลฐานลักษณะ 13 ประการ คือ

ความละเอียด ความนุ่ม ความแกร่ง น้ำหนัก ความหนึก ทรายเงินทรายทอง แป้งโรยพิมพ์ การลงทองร่องชาด การลงรักเก่าทองเก่า การแตกลายงา การแตกสังคโลก ความฉ่ำ และความซึ้ง

12 ลักษณะ…เห็นเป็นรูปธรรม นึกภาพได้…มี “ความหนึก” ลักษณะเดียวที่เป็นนาม ธรรม นึกภาพไม่ออก 

เห็นจะต้องขอให้ตั้งสติ รวบรวมสมาธิ ค่อยๆฟัง ค่อยๆทำความเข้าใจ

ครูบอกว่าความหนึกเป็นมูลฐานลักษณะของเนื้อที่เข้าใจได้ค่อนข้างยาก…เพราะโดยเนื้อแท้ของความหนึกย่อมไม่ปรากฏลักษณะโดยแน่ชัด

หากเป็นมูลลักษณะการผสมผสานกันระหว่างความละเอียด ความนุ่ม ความแกร่ง และน้ำหนัก รวมกันเป็นความเก่าของเนื้อแท้ คู่กับความซึ้ง

ความหนึก ความซึ้ง ครูย้ำว่ามีความหมายมากที่สุดทางทรรศนียะ (การดูพระ)

หากเข้าถึงความหนึก ย่อมหมายความว่าเข้าถึงการดูพระทางเนื้อได้กึ่งหนึ่ง และเมื่อเข้าถึงความซึ้ง ก็เท่ากับเข้าถึงการดูพระได้เต็มร้อย

โดยทั่วไป เนื้อวัดระฆัง เป็นความหนึกนุ่ม เนื้อของบางขุนพรหม เป็นความหนึกแกร่ง

ครูอธิบายความหนึก ลงลึกไปอีก..ความหนึกคือปัจจัยทำให้เกิดความละเอียด ความนุ่ม ความแกร่ง และน้ำหนัก หล่อหลอมเข้าเป็นคุณ ลักษณะของเนื้อแท้ๆ แต่ละองค์ ซึ่งกอปรด้วยมูลลักษณะทั้งสี่ที่ต่างกันไป

หากความหนึก กระเดียดไปทางลักษณะความนุ่ม ก็เรียกความหนึกนุ่ม หรือถ้าโน้มเอียงมาทางความแกร่ง ก็ถือว่าเป็นความหนึกแกร่ง แต่ความหนึกนุ่มก็ย่อมมีความแกร่งแฝงอยู่ และความหนึกแกร่งก็กอปรด้วยความนุ่มอยู่

ถ้าเป็นความหนึกแกร่งจัดๆ ความนุ่มก็จะแฝงอยู่แต่น้อย เป็นปฏิภาคสัมพันธ์

ส่วนความละเอียดและน้ำหนักเป็นคุณสมบัติที่เสริมความหนึกทั้งสอง ให้ทรงคุณค่ายิ่งขึ้น

ครูสอนให้ทดสอบความหนึก ทางสายตาด้วยการใช้แว่นขยาย และกรรมวิธีความแห้งบริสุทธิ์ (ล้างน้ำอุ่นรอให้แห้ง) ถ้าเป็นเนื้อหนึกนุ่ม จะเห็นความหนั่นแน่นนุ่มนวล และฝ้าขาวนวลของแป้งโรยพิมพ์

หรือถ้าปรากฏการล่อนหลุดของรักเก่า แต่ไม่แตกลายงา หรือเป็นเนื้อที่มีความฉ่ำซึ้งจัด กอปรด้วยเงาสว่างสดใสกระจ่าง ที่มีสภาพมิติที่สามของเนื้อ แสดงคุณลักษณะของเนื้อหนึกนุ่ม

สำหรับเนื้อหนึกแกร่ง จะปรากฏตรง กันข้าม ผิวเนื้อจะเป็นปูนแกร่งๆ ปราศจากผิวแป้งโรยพิมพ์ หรือปรากฏเพียงบางๆตามซอกๆ และการแตกลายงาชัดเจน จากสภาพรักเก่าล่อน รวมเงาสว่างที่ไม่กระจ่างสดใส

เป็นไง!ครับ สำหรับคนที่เคยส่องพระสมเด็จฯมามาก  คงพอเข้าใจนามธรรม ของความหนึกได้บ้าง

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์ จัดเป็นเนื้อหนึกนุ่มซึ้งจัด…หลุมร่อง รอยยุบ รอยแยก ก้อนขาว กากดำ เม็ดแดง ครบสูตร ไม่ว่าด้านหน้าและด้านหลัง พูดภาษาเซียน เนื้อจัดดูง่าย ได้เต็มปาก

ผมบอก ใหญ่ ยะโสธร เจ้าของพระ องค์นี้เป็นองค์วัดตาเซียน…พระดูง่ายขนาดนี้ ถ้าดูไม่แท้ ก็ไม่ใช่เซียน จะพูดว่าดูพระไม่เป็น…ก็คงไม่ได้ พระสมเด็จวัดระฆังสวยซึ้ง เซียนเห็นก็น้ำลายสอ อยากได้ แต่ลีลาเซียนที่วงการรู้กัน ดูพระให้คนอื่นแท้ไม่เป็น จนกว่าจะเป็นของตัวเอง.

เครดิต : ใหญ่ ยะโสธร

เครดิต : ไทยรัฐ